Select your language TH EN
อื่นๆ ความรู้ทั่วไป  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ถั่งเช่า-สรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพ

ถั่งเช่า หรือ ตังถั่งเช่า หรือชื่อเต็ม ตังถั่งแห่เช่า หมายถึง "หญ้าหนอน" หรือ "ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า" เป็นสมุนไพรจีนที่เป็นส่วนผสมของเห็ดราและสัตว์ เกิดจากหนอนผีเสื้อกลางคืนแถบที่ราบสูงทิเบตที่จำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว ถูกสปอร์ของเห็ดราที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน (ที่คนกินได้) ในสกุล Ophiocordyceps อาศัยเป็นปรสิตและเติบโตสร้างเส้นใยออกมาทางส่วนหัวของตัวหนอนในฤดูร้อน เห็ดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ophiocordyceps sinensis 

หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง

ถั่งเช่า อาศัยอยู่ใต้ดิน 15 ซม. ในทุ่งหญ้าบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตและพื้นที่โดยรอบเช่นแถบเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงระหว่าง 3,000 ถึง 5,000 เมตร สามารถพบถั่งเช่าในพื้นที่ทางตอนเหนือของเนปาล ภูฏาน รัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ยูนนานตอนเหนือ ชิงไห่ตะวันออก ทิเบตตะวันออก เสฉวนตะวันตก และทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู การเก็บถั่งเช่าจะเก็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อขุดตัวหนอนขึ้นจากดินแล้ว ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตากแห้ง การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในที่แห้ง

“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น


ถั่งเช่า-สรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพ thai-herbs.thdata.co | ถั่งเช่า-สรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

อนุกรมวิธาน: เห็ดถั่งเช่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ophiocordyceps sinensis (เดิมชื่อ Cordyceps sinensis)) เป็นที่รู้จักกันในภาษาจีนคือ ตงฉงเซี่ยเฉา และในภาษาไทยซึ่งทับศัพท์จากภาษาแต้จิ๋ว ตังทั้งแห่เฉ่า ชื่อภาษาท้องถิ่นอื่นคือ "ยาร์ตซากันบู" (ภาษาทิเบต "หญ้าฤดูร้อน, หนอนฤดูหนาว") หรือ Yarsha-gumba หรือ Yarcha-gumba (ในภาษาเนปาล) หรือ Keeda Jadi (ในภาษาพม่า)


การใช้ในตำรับยา: การใช้ถั่งเช่าเป็นยาพื้นบ้านมีต้นกำเนิดในทิเบตและเนปาล จนถึงตอนนี้ข้อความที่เก่าแก่ที่สุดที่ทราบเกี่ยวกับการใช้งานเขียนขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 โดยแพทย์ชาวทิเบต Zurkhar Nyamnyi Dorje (Wylie: Zur mkhar mnyam nyid rdo rje) [1439-1475])

ในทางการแพทย์แผนจีน (TCM) ได้รับการยกย่องว่ามีความสมดุลของหยินและหยางเนื่องจากถือว่าประกอบด้วยทั้งสัตว์และผัก

การบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 863 ของ Duan Chengshi นักธรรมชาติวิทยาในราชวงศ์ถัง ถั่งเช่าได้รับการระบุว่า "ทำให้ปอดและไตแข็งแรงขึ้น ห้ามเลือด และแก้เสมหะ" อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณสารหนูในถั่งเช่าที่ได้จากธรรมชาติ มีปริมาณสูงกว่าค่ากำหนดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ในปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของจีน ได้นำถั่งเช่าออกจากประเภทอาหารเพื่อสุขภาพ และได้ออกคำแนะนำในการบริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า โดยระบุว่า "ในถั่งเช่าแห้งและแคปซูลผงถั่งเช่าบริสุทธิ์มีปริมาณสารหนู 4.4 - 9.9 มก./กก." และ "มีความเสี่ยงสูงในการบริโภค" มีการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและไม่อนุญาตให้ผลิตหรือขายโดยไม่ได้รับการอนุมัติ ในการศึกษาบางฉบับแนะนำให้กินถั่งเช่าธรรมชาติไม่เกินวันละ 3-9 กรัม

ในทางการแพทย์แผนจีน (TCM) เชื่อว่าถั่งเช่าช่วยบำรุงปอดและไต การศึกษาในหนูทดลองพบว่าถั่งเช่ามีผลต่อการเพิ่มคอร์ติโคสเตอโรน (Corticosterone) (เป็นฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยในการควบคุมการใช้พลังงานและปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไตและช่วยในเรื่องของระบบทางเดินหายใจ) นอกจากนี้ในการศึกษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังเป็นไปได้ว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ต่อต้านเนื้องอก, ต้านการอักเสบ, สารต้านอนุมูลอิสระ, ลดน้ำตาลในเลือด, ต่อต้านการตายของเซลล์, การควบคุมและสร้างภูมิคุ้มกัน


องค์ประกอบทางเคมีของถั่งเช่า: ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ ( Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น


รายงานการวิจัยในคน: ถึงแม้ว่า “ถั่งเช่า” มีการใช้อย่างแพร่หลายและมีราคาสูง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น

-กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อการกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ พบว่าการวิจัยในผู้ชาย 22 คน ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของสเปิร์มในอสุจิได้ 33% และมีผลลดปริมาณของสเปิร์มที่ผิดปกติลง 29% และมีอีกกรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง 189 คน ที่มีความต้องการทางเพศลดลง พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยทำให้อาการและความต้องการทางเพศสูงขึ้น 66% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการรับประทานถั่งเช่าจะช่วยปกป้องและช่วยให้การทำงานของต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากต่อมไทมัส และจำนวนของสเปิร์มที่สามารถปฏิสนธิได้เพิ่มขึ้น 300 % และช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้ 86%

-กรณีศึกษาฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทำการศึกษาในผู้ชาย 5 คน (อายุเฉลี่ย 35 ปี) ที่ถุงลมถูกกระตุ้นให้อักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น interlukin-1beta (IL-1beta), interlukin-6 (IL-6), interleukin-8 (IL-8), interleukin-10 (IL-10) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-alpha) ได้ จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น

-กรณีศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานถั่งเช่าปริมาณ 3 กรัม/วัน พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95% ในขณะที่กลุ่มที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพียง 54%

-กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของไต มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง 28 คนรับประทานถั่งเช่า (Cordyceps sinensis) ปริมาณ 3-5 กรัม/วัน พบว่าถั่งเช่าส่งผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวกลุ่มย่อยบางชนิดและอาจส่งผลดีต่อการทำงานของไตได้ แต่งานวิจัยฉบับนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดของวิธีการวิจัยหรือสิ่งที่ใช้วัดผลการทำงานของไตที่ชัดเจน รวมไปถึงระดับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานของไตที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากการวิจัยนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลอื่นๆ ที่รายงานผลของถั่งเช่าต่อระบบการทำงานของไตหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตวายเรื้อรัง เช่น ผลต่อระดับโปรตีนในปัสสาวะ ผลต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ผลต่อระดับสารต้านอนุมูลอิสระ หรือผลลดความเป็นพิษต่อไตจากยาบางชนิด แต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการนำเสนอผลการศึกษาในงานประชุมวิชาการซึ่งยังไม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ไม่สามารถประเมินความเหมาะสมของคุณภาพการศึกษาผลของถั่งเช่าดังกล่าวได้ ดังนั้นโดยรวมจะเห็นว่าคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลของถั่งเช่าและผลต่อระบบการทำงานของไตนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดและไม่อาจใช้ยืนยันประโยชน์ที่ชัดเจนได้

-กรณีศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรังจำนวน 25 คน ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการทดลอง จากการทดลองพบว่าระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวทีลิมโฟไซต์ที่บ่งบอกระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายเพิ่มขึ้น อาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพังผืดในตับของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาผลจากการรับประทานสารสกัดถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง จำนวน 60 คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับประทานสารสกัดถั่งเช่า ครั้งละ 8 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง และอีกกลุ่มได้รับยาสมุนไพรชนิดอื่น ครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 ครั้งเช่นเดียวกัน ผลพบว่า ผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดจากถั่งเช่ามีการอักเสบของตับลดลงประมาณ 81% และการเกิดพังผืดลดลง 52% แต่ยังมีผู้ป่วยอีก 33% ที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการเกิดพังผืดในตับ จึงอาจเป็นหลักฐานที่เชื่อว่าถั่งเช่าอาจช่วยเพิ่มการทำงานของตับ ลดการอักเสบของตับลงและความเสี่ยงในการเกิดพังผืดที่ตับ

-โรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังการทำเคมีบำบัด (คีโม) เพิ่มความต้องการทางเพศ บรรเทาอาการเหนื่อยง่าย แก้ไอ รักษาโรคหลอดลมอักเสบ ความผิดปกติของการหายใจ ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว โรคโลหิตจาง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คอเลสเตอรอลสูง ความผิดปกติของตับ เวียนหัว เป็นต้น ซึ่งยังขาดหลักฐานที่ดีพอในการยืนยันสรรพคุณเหล่านี้


การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา: เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น


ถั่งเช่า-สรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพ thai-herbs.thdata.co | ถั่งเช่า-สรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่งเช่า: 

-การเลือกรับประทานสมุนไพรถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมควรเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้อง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ต่อการปนเปื้อนสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

-ถั่งเช่าอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ หรือปากแห้งในบางราย

-การรับประทานถั่งเช่าควบคู่กับยาบางประเภท เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยายับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ หรือคาเฟอีน อาจก่อให้ปฏิกิริยาระหว่างยา ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาบางตัวในขณะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

-ก่อนการรับประทานถั่งเช่าในรูปแบบปกติหรืออาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาในการรับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาระหว่างยาและร่างกาย

-สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานมากเพียงพอ หากต้องการรับประทานควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง

-การใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส โรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากถั่งเช่าอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง

-การใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติอาจมีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งผู้เข้ารับการผ่าตัดควรเลี่ยงที่จะรับประทานถั่งเช่าก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดเลือดออกมากในขณะผ่าตัด

-การใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด

“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่นิยมในปัจจุบัน เป็นการใช้ตามสรรพคุณของภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าศตวรรษ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย ฉะนั้นการใช้ถั่งเช่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะ ถั่งเช่ามีราคาสูงมาก ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้และควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ถั่งเช่าในการรักษาโรคเพื่อความปลอดภัยและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง