Select your language TH EN
อื่นๆ ความรู้ทั่วไป  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



โรคหวัด (Common cold)


โรคไข้หวัด คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคหวัด ในที่นี้ หมายถึง โรคไข้หวัดธรรมดา (Common cold) ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ ฟลู (Influenza หรือ Flu) โดยโรคหวัดเป็นโรคพบบ่อยมาก ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กในปฐมวัย(นิยามคำว่าเด็ก)ซึ่งมักพบเป็นโรคหวัดได้บ่อยถึงปีละประมาณ 6-8 ครั้ง เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล จึงมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก โรคหวัดเป็นโรคพบตลอดปี แต่พบบ่อยขึ้นในหน้าฝนและหน้าหนาว

ทั้งนี้ ทางการแพทย์จัดโรคหวัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน’


โรคหวัดเกิดได้อย่างไร?

โรคหวัด เกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไวรัสโรคหวัดมีหลากหลายชนิด แต่กลุ่มใหญ่คือกลุ่ม ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และ โคโรนาไวรัส(Coronaviruses: โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส)


โรคหวัดมีอาการอย่างไร? 

โดยทั่วไป โรคหวัดมีอาการไม่รุนแรง เช่น

  • มีไข้ได้ แต่เป็นไข้ไม่สูง มักไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส/Celsius/C

  • อาจปวดหัว แต่ไม่มาก

  • ปวดเมื่อยตัว

  • มีแสบตา อาจมีน้ำตไหล

  • มีคัดจมูก จาม ไอไม่มาก มีน้ำมูกใส

  • อาจเสียงแหบ

  • อ่อนเพลีย แต่ไม่มาก

  • บางครั้งอาจมีอาการ เจ็บคอ, ปวดท้อง, อาเจียน, หรือ ท้องเสียได้บ้าง

โดย อาการของโรคหวัด แตกต่างกันได้มากในแต่ละครั้งของการเป็นหวัด แต่โดยทั่วไปเป็นอาการไม่มาก มักหายได้เองจากการดูแลตนเอง


โรคหวัดรุนแรงไหม? มีโรคแทรกซ้อนได้ไหม?

ความรุนแรงของโรคหวัดหรือการพยากรณ์โรคของโรคหวัด ขึ้นกับว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดใด, แต่โดยทั่วไปมักไม่รุนแรง หายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ด้วยการดูแลตนเองตามอาการ

แต่ในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย, หรือโรคหืด อาจมีโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการอักเสบของไซนัส (ไซนัสอักเสบ) หรือ ของหูชั้นกลาง (หูน้ำหนวก) หรือ ปอดบวมได้

ดังนั้น ถ้าอาการน้ำมูกไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือ น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือ สีเขียว หรือ มีอาการปวดหู หรือ หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง ไข้กลับมาสูง ไอมาก เสมหะมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล


โรคหวัดติดต่อได้ไหม? โรคหวัดติดต่ออย่างไร? 

โรคหวัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อเข้าสู่ร่างกายและทางเดินหายใจโดย 

  • หายใจเอาเชื้อหวัดที่อยู่ในอากาศจากละอองฝอยจากการ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลายของคนเป็นโรคหวัด 

  • จากมือสัมผัสเชื้อไวรัสโรคหวัดจากสิ่งต่างๆที่จับต้องได้ เช่น การเล่นกับคนเป็นหวัด โทรศัพท์ ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ และ ของเล่นต่างๆ และมือที่ติดเชื้อนี้สัมผัสกับช่องปาก เนื้อเยื่อจมูก และเนื้อเยื่อตา ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายและทางเดินหายใจ


แพทย์วินิจฉัยโรคหวัดได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคหวัดได้จาก

  • อาการผู้ป่วย ประวัติการระบาดของโรค ฤดูกาล

  • การตรวจร่างกายทั่วไป, การตรวจดูในลำคอ, อาจร่วมกับการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอ

  • แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง แพทย์อาจ

    • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) เพื่อแยกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย และ

    • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจเลือดดูค่าเกล็ดเลือดเพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น


โรคหวัดรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหวัด คือ ดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ(การรักษาตามอาการ) ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่จากเชื้อแบคทีเรีย (ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้) เช่น การพักผ่อน, กินยาลดไข้, ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง,


ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นหวัด? และควรพบแพทย์เมื่อใด? 

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อเป็นหวัด ได้แก่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาร่างกายให้อบอุ่น

  • กินยาพาราเซตามอล (ยาลดไข้ ยาแก้ปวด) ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน จากยาแอสไพรินได้ (การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย)

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ (เมื่อทำเอง อย่าให้เค็มมาก) และทุกครั้งหลังกินอาหารและดื่มเครื่องดื่ม

  • กินยาลดน้ำมูก/ยาแก้แพ้ และ/หรือ ยาแก้ไอ (ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเอง)

  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

  • งดบุหรี่, หลีกเลี่ยงควันบุหรี่, งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย

  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

    • มีไข้สูง และไข้ไม่ลงใน 1-3 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพดั้งเดิม

    • มีไข้ร่วมกับขึ้นผื่น

    • ไอมาก

    • มีเสมหะสีเหลือง หรือ เขียว

    • เจ็บคอมาก และ/หรือ กินอาหารได้น้อย

    • ปวดหัว

    • เจ็บตำแหน่งไซนัสมากขึ้น

    • หายใจเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก

    • เสียงแหบไม่ดีขึ้นหลังหวัดหายแล้ว เพราะเป็นอาการของโรคสายเสียง อาจจากโรคมะเร็งกล่องเสียงได้(เมื่อเป็นผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุ)

    • ปวดหู, มีน้ำ/ของเหลวออกจากหู (หูติดเชื้อ)

    • เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการต่างๆเพิ่มมากขึ้น หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน1สัปดาห์

    • มีความกังวลในอาการ


ป้องกันโรคหวัดได้อย่างไร? 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัดธรรมดา มีแต่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการป้องกันโรคหวัดธรรมดาที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/ สุขบัญญัติแห่งชาติ เสมอทุกวัน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ทุกวัน โดยเพิ่ม ผัก และผลไม้ให้มากๆ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละอย่างน้อย 6-8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหาร และ หลังเข้าห้องน้ำ

  • กินร้อน ใช้ช้อน แก้วน้ำเฉพาะตนเอง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

  • หลีกเลี่ยงการเล่น การสัมผัสกับเด็ก/คนที่เป็นหวัด

  • ไม่ไปในที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า ในช่วงที่มีการเป็นโรคหวัดกันมาก

  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย


โรคหวัดต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ไหม? 

โรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นคนละโรค แต่มีวิธีติดต่อ อาการ วิธีวินิจฉัย และแนวทางการรักษาในระยะแรกเหมือนกัน ที่แตกต่าง คือ

  • เกิดจากติดเชื้อไวรัสคนละชนิด

  • อาการโรคหวัดรุนแรงน้อยกว่าจากไข้หวัดใหญ่มาก และอาการมักค่อยเป็นค่อยไป แต่ไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงทันทีภายใน 1 วัน

  • โรคหวัด ไม่ค่อยเกิดโรคแทรกซ้อน แต่เมื่อเกิดมักเป็นโรคแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง แต่ไข้หวัดใหญ่มักเกิดโรคข้างเคียงแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน)

  • โรคหวัดไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่ในไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่แรก

  • ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด แต่โรคไข้หวัดใหญ่มีวัคซีนป้องกัน (ปรึกษาแพทย์เรื่องการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง)



อ้างอิง: หาหมอ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง