Select your language TH EN
การแพทย์จีน ประวัติการแพทย์จีน  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ




6. ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่ ช่วงยุคราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ก่อนสงครามฝิ่น (ค.ศ. 1368-1840)

เหตุการณ์ในยุคนี้ที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการแพทย์ของจีน ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1371-1435 ขันที เจิ้งเหอหรือ ซันเป่ากง ได้ออกเดินทางท่องทะเลไปตลอดทะเลจีนใต้ถึงอินเดียและกว่า 30 ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้ประเทศจีนได้แลกเปลี่ยนวิทยาการและการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการปิดกั้นควบคุมบรรดาปัญญาชน โดยในราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ มีการสอบถึง 8 ภาค และมีความพยายามปิดกั้นขัดขวางกระแสทุนนิยมโดยการใช้นโยบายปิดประเทศด้วย พัฒนาการด้านต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่สำคัญในยุคนี้ มีดังนี้

1) การพัฒนาตำราการแพทย์และเภสัชตำรับ ได้แก่

- ตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ หรือ Compendium of Materia Medica (ค.ศ. 1578) เขียนโดย หลี่สือเจิน (ค.ศ. 1518-1593) โดยใช้เวลากว่า 30 ปี ศึกษาตำรากว่า 800 เล่ม เขียนตำรานี้เสร็จเมื่อมีอายุได้ 60 ปี  และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1596 เป็นหนังสือรวม 52 เล่ม กล่าวถึงสมุนไพร 1,892 ชนิด โดย 374 ชนิดเป็นรายการใหม่เพิ่มจากตำราเดิม มีภาพประกอบกว่า 1,160 ภาพ เป็นตำรับยากว่า 11,000 ตำรับ  และตำรับยากว่า 8,160 ตำรับ เขียนจากประสบการณ์ของเขาเอง มีการจัดหมวดหมู่ของสมุนไพรใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ทั้งนี้ ดาร์วิน (Davin) ได้อ้างอิงข้อมูลเรื่องปลาทอง (Golden Fish) และไก่ดำ (Blackbone Chicken) จากตำราชุดนี้ด้วย ดาร์วินเรียกตำรานี้ว่า สารานุกรมจีนโบราณ (Encyclopedia of Ancient China)

ต่อมา จ้าวเสวียหมิ่น  (ค.ศ. 1716-1805) ได้เขียนตำรา เปิ๋นเฉ่ากังมู่สือ หรือ An Addendum to the Compendium of Materia Medica หรือภาคผนวกของตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ของหลี่สือเจิน โดยใช้เวลาราว 40 ปี ทบทวนตำรากว่า 600 เล่ม


6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

หลี่สือเจิน-ตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่


- ตำราจื๋ออู้หมิงสือถูเข่า หรือ Illustrated Investigation of Names and Natures of Plants หรือ หนังสือภาพการสืบค้นชื่อและธรรมชาติของพืช  เขียนโดย หวูฉีจุ้น (ค.ศ. 1789-1847) ซึ่งเป็นข้าราชสำนักตำแหน่งสูง และมีโอกาสเดินทางไปหลายมณฑลกว่าครึ่งประเทศ เช่น ส่านซี หูเป่ย์ หูหนาน เจียงซี ซีจั้ง ฝูเจี้ยน  ยฺหวินหนาน และกุ้ยโจว เป็นต้น  เขาสนใจศึกษาสมุนไพรของท้องถิ่นต่าง ๆ และศึกษาตำรากว่า 800 เล่ม ซึ่งในครั้งแรกได้รวบรวมพืชกว่า 780 ชนิด ต่อมาปรับปรุงใหม่เป็นหนังสือถึง 38 เล่ม กล่าวถึงพืช 1,714 ชนิด

- ตำราผู่จี้ฟาง หรือ Prescription for Curing All People หรือ ตำรับยาเพื่อรักษาทุกคน (ค.ศ. 1406) เป็นหนังสือ 168 เล่ม แบ่งเป็นกว่า 100 หัวข้อ 2,175 หัวข้อย่อย ตำรับยากว่า 61,000 ตำรับ รวมตัวอักษรราว 10 ล้านอักษร

- หนังสืออีฟางเข่า หรือ Verification of Formulae หรือ หนังสือการทดสอบตำรับยา (ค.ศ. 1584) เขียนโดย หวูคุน (ค.ศ. 1551-1602) เป็นหนังสือ 6 เล่ม 72 หัวข้อ เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมาก ต้องพิมพ์ซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

- หนังสืออีฟางจี๋เจี่ย หรือ Collection of Formulae and Notes หรือ หนังสือรวบรวมสูตรตำรับและบันทึก เขียนโดย วางหม่าว แบ่งเป็น 21 หัวข้อ 300 ตำรับ

- ตำราเกี่ยวกับไข้ หลายเล่ม ได้แก่ ตำรา ซางหานลุ่น หรือ Treatise of Febrile Diseases หรือ ตำราโรคไข้ ตำรา ซือเร่อเถียวเปี้ยน หรือ Systematic Differentiation of Damp Heat Syndromes หรือ ตำราการแยกกลุ่มอาการร้อนชื้นอย่างเป็นระบบตำรา เวินปิ้งเถียวเปี้ยน Systematic Differentiation of Febrile Diseases หรือ ตำราแยกโรคไข้อย่างเป็นระบบ และ ตำราโรคระบาดฉบับย่อ (Compendium on Epidemic Febrile Diseases)

2) การพัฒนาทฤษฎีโรคระบาด และการปลูกฝี

ในยุคราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง เกิดโรคระบาดขึ้นหลายครั้ง  มีโรคระบาดเกิดขึ้นราว 64 ครั้ง ในช่วง 276 ปีของยุคราชวงศ์หมิง และ 74 ครั้ง ในช่วง 266 ปีของยุคราชวงศ์ชิง จึงมีการพัฒนาตำราที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด คือตำรา เวินอี่ลุ่น หรือ Treatise of Pestilence หรือ ตำราโรคไข้ระบาด เขียนโดย หวูโหย่วซิ่ง เป็นหนังสือ 2 เล่ม วางทฤษฎีพื้นฐานเรื่องโรคระบาด ในคำนำบรรยายสาเหตุของโรคระบาดว่า โรคระบาดมิได้เกิดจากลม ความเย็น ความร้อน หรือความชื้น แต่เกิดจากเหตุผิดปกติของดินฟ้าอากาศเป็นพิษจากการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล (ตำราการแพทย์จีนดั้งเดิม เชื่อว่าโรคเกิดจากเหตุธรรมชาติ 6 ประการ ได้แก่ ลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความแห้ง และไฟ) นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเชื้อโรคระบาดเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก หวูโหย่วซิ่งยังสังเกตเห็นว่า โรคระบาดเกิดในคนและสัตว์ ไม่เหมือนกัน “วัวป่วยในขณะที่เป็ดไม่ป่วย และคนป่วยในขณะที่สัตว์ไม่ป่วย”

สำหรับการบุกเบิกเรื่องการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ มีผู้บันทึกว่าคนจีนในอำเภอไท่ผิง มณฑลหนิงกั๋วฝู่ (Ningguofu) ซึ่งปัจจุบันคือ มณฑลอันฮุย (รู้จักวิธีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาตั้งแต่รัชสมัยหลงชิงแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1567-1572)

ในยุคราชวงศ์ชิง มีหนังสือที่กล่าวถึงตำนานที่มาของการป้องกันไข้ทรพิษในประเทศจีน 2 เล่ม คือ หนังสือ ตำราอ้างอิงใหม่เกี่ยวกับการปลูกฝีในมนุษย์ (New Text About Human Variolation) (ค.ศ. 1884) แต่งโดย หวูหรงหลุน และตงยฺวี่ซาน บันทึกไว้ว่า “จากการสืบค้นหนังสือเก่า ๆ พบศัพท์ทางการแพทย์เกี่ยวกับการปลูกฝีในคน ใน ช่วงสมัยถังไค่เยฺวียน (Tang Kaiyuan) จ้าวสือ (Zhao Shi) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำแยงซี ได้ใช้วิธีพ่นผงแห้งหรือที่ทำให้ชุ่มของสะเก็ดแผลไข้ทรพิษ เข้าไปในเยื่อบุจมูกของเด็กที่ปกติ” หนังสือเล่มดังกล่าวได้กล่าวถึงการปลูกฝีในจีนว่า เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 713-741 หนังสืออีกเล่มคือ ตำราไข้ทรพิษ (Treatise on Pox) (ค.ศ. 1713) เขียนโดย จูชุนเซี่ย แพทย์ราชสำนักแห่งสถาบันแพทย์หลวง กล่าวไว้ว่า การปลูกฝีเริ่มต้นมาจาก หมอเทวดา (Divine Doctor) แห่งภูเขาเอ๋อร์เหมย ตั้งแต่รัชสมัยซ่งเจินจง (ค.ศ. 1023-1063) ตำนานมิได้กล่าวถึงวิธีการปลูกฝี แต่เล่าว่า หวางต้าน อัครมหาเสนาบดีของราชสำนักซ่งเจินจง ได้นำวิธีจากหมอเทวดามาปลูกฝีให้กับลูกของตนเอง หลังจากลูกหลายคนของเขาต้องตายไป เพราะไข้ทรพิษ ตำนานทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ จึงไม่ใคร่ได้รับความเชื่อถือ 

วิธีการปลูกฝีของจีนเผยแพร่ไปใช้ในญี่ปุ่น ค.ศ. 1652 และเข้าสู่รัสเซีย ค.ศ. 1688

3) การพัฒนาเวชปฏิบัติ

ในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการพัฒนาเวชปฏิบัติแขนงต่าง ๆ ทั้งอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ วิทยาการบาดเจ็บ สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ จักษุวิทยา ทันตกรรม ลาริงซ์วิทยา และวิทยาการฝังเข็ม  มีตำราแพทย์หลายชุดเขียนขึ้นในยุคนี้ เช่น

- ตำราอิ้วอิ้วจี๋เฉิง หรือ A Complete Work on Pediatrics หรือ ตำรากุมารเวชศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ (ค.ศ. 1750) เขียนโดย เฉินฟู่เจิ้ง โดยเขียนจากประสบการณ์ราว 40 ปี อธิบายลักษณะหลอดเลือดดำที่นิ้วชี้ให้สมบูรณ์ขึ้น เน้นการรักษาด้วยยาภายนอกมากกว่ายาภายใน

- ตำราเป่าอิงชัวเอี้ยว หรือ Synopsis of Caring for Infants หรือ ตำราดูแลทารกฉบับย่อ เขียนโดยสองพ่อลูก เซฺวียไข่ และ เซฺวียจี่ เป็นหนังสือ 20 เล่มกล่าวถึงโรคต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของเด็กกว่า 700 เรื่อง มีเรื่องวิธีการป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด โดยการจี้สายสะดือที่ตัดออกด้วยความร้อน

4) การรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิม

มีการรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคัมภีร์เน่ย์จิง (Classic of Internal Medicine) และตำราซางหานลุ่น (Treatise on Febrile Disease) โดยทำให้กระชับและชัดเจนขึ้น จนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ในยุคต้นราชวงศ์ชิง ตำราแพทย์ต่าง ๆ ตำราดั้งเดิมกว่า 120 เล่ม ได้รับการจัดหมวดหมู่ เพื่อ ให้อ้างอิงได้สะดวก  จัดทำเป็นหนังสือรวม 520 เล่ม  เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่บันทึกทางการแพทย์สมัยดั้งเดิม การวินิจฉัยโรค การรักษา ทฤษฎีพื้นฐานของโรคแขนงต่าง ๆ การประกอบโรคศิลปะ บันทึกเหตุการณ์และประวัติแพทย์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งทฤษฎีและวิธีการปรุงตำรับยา ตำราสำคัญจากการรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิม คือ ตำรา อีจงจินเจี้ยน หรือ ตำราการแพทย์ฉบับราชสำนัก (ค.ศ. 1739) รวบรวมและชำระโดยแพทย์ราชสำนักแห่งราชวงศ์ชิง  มี หวูเชียน เป็นหัวหน้าคณะ จัดทำเป็นหนังสือ 90 เล่ม หลังการสถาปนารัฐจีนใหม่ใน ค.ศ. 1949 สถาบันแพทย์ราชสำนัก (The Institute of the Imperial Physicians) จัดให้ตำราชุดนี้เป็นตำราอ้างอิงของนักศึกษา 

นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมบันทึกเวชปฏิบัติของแพทย์ เช่น

- หนังสือ กู่จินอีถ่ง หรือ A Great Collection of Medical Works, Ancient and Modern หรือ หนังสือรวบรวมผลงานทางการแพทย์ครั้งใหญ่ทั้งโบราณและปัจจุบัน (ค.ศ. 1556) รวบรวมโดย สวีชุนฝู่ 

- หนังสือ เจิ้งจื้อจุ่นจฺเหวีย หรือ Standard of Diagnosis and Treatment (ค.ศ. 1602) โดยหวางเขิ่นถัง 

- หนังสือ จิ่งเยวี่ยฉวนซู หรือ Complete Works of Zhang Jingyue หรือ หนังสือผลงานฉบับสมบูรณ์ของจางจิ่งเยวี่ย (ค.ศ. 1624) โดย จางเจี้ยปิน เป็นหนังสือ 64 เล่ม รวมกว่า 1 ล้านตัวอักษร

- หนังสือ หมิงอีเล่ย์อั้น หรือ Classified Medical Records of Famous Physicians หรือ หนังสือเรียบเรียงการบันทึกทางการแพทย์อย่างเป็นระบบของแพทย์ผู้มีชื่อเสียง (ค.ศ. 1549) รวบรวมโดย เจียง โดยใช้เวลาทำงานกว่า 20 ปี รวบรวมบันทึกและเขียนคำวิจารณ์ แต่ทำได้เพียง 12 เล่ม ก็เสียชีวิต เจียงยิ่งซู ผู้เป็นบุตรใช้เวลาทำงานสืบทอดต่อมาอีก 19 ปี จึงเสร็จ และตีพิมพ์เผยแพร่ได้ใน ค.ศ. 1591 หนังสือนี้ได้รับความนิยมและตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

- หนังสือ ซู่หมิงอีเล่ย์อั้น หรือ Supplements to the Classified Medical Records of Famous Physicians หรือ ภาคผนวกหนังสือเรียบเรียงการบันทึกทางการแพทย์อย่างเป็นระบบของแพทย์ผู้มีชื่อเสียง (ค.ศ. 1770) และหนังสือ คำอภิปรายเรื่องเวชปฏิบัติในหลิวโจว หรือDiscussion of Medical Practice in Liu Zhou รวบรวมโดย เว่ย์จือซิ่ว 

5) การแลกเปลี่ยนทางการแพทย์กับต่างประเทศ

ในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ของจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี โดยส่วนใหญ่ญี่ปุ่นและเกาหลีรับถ่ายทอดวิทยาการจากจีน ขณะเดียวกันวิทยาการทางการแพทย์ของตะวันตกได้เผยแพร่เข้าสู่จีนทั้งวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา เภสัชวิทยา และอื่น ๆ แต่มีอิทธิพลต่อการแพทย์จีนไม่มากในขณะที่การแพทย์จีนเริ่มเผยแพร่เข้าสู่ยุโรปโดยผ่านทางคณะมิชชันนารี เช่น

- มิเชล บอย์ม (Michel Boym) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ พรรณไม้จีน (Chinese Flora) (ค.ศ. 1643) เป็นภาษาละตินโดยเนื้อหาส่วนใหญ่ได้มาจากตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ หรือ Compendium of Materia Medica ของหลี่สือเจิน

- อาร์ พี แฮร์ริว (R.P. Harrieu) ตีพิมพ์หนังสือ ความลับของการแพทย์จีนดั้งเดิม (Secret Classic of Traditional Chinese Medicine) (ค.ศ. 1671)

- พูมิเกอร์ (Pumiger) แปลหนังสือ อีหมิงเหอจงกั๋วม่ายหลี่ หรือ Medical Guide and Traditional Chinese Medicine Pulse Theory หรือ คู่มือทางการแพทย์และทฤษฎีชีพจรการแพทย์จีน  เป็นภาษาละติน ใน ค.ศ. 1680  และพิมพ์เผยแพร่ในประเทศเยอรมนี

- เคลอเยอร์ (Cleryer) รวมงานแปลของพูมิเกอร์เรื่องชีพจรของจีน การตรวจลิ้น สมุนไพรจีน 289 ชนิด และภาพเส้นชีพจร 68 ภาพ  ตีพิมพ์หนังสือ ตัวอย่างการบำบัดโรคของจีน (Examples of Chinese Medical Therapies) เป็นภาษาละติน ใน ค.ศ. 1682 ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนีในศตวรรษที่ 17 แพทย์ชาวตะวันตกเริ่มนำวิชาฝังเข็มและรมยาไปใช้ กล่าวคือ ค.ศ. 1671 มีการตีพิมพ์ตำรารมยาออกมา 2 เล่ม ในประเทศเยอรมนี เล่มหนึ่งเขียนโดย เกลฟูซุส (Geilfusius) อีกเล่มหนึ่งเขียนโดย บูสชอฟ (Busschof)

- เซอร์จอห์น ฟลอเยอร์ (Sir John Floyer) แพทย์ชาวอังกฤษเขียนรูปแบบการจับชีพจรของแพทย์ (Form of Doctor’s Feeling the Pulse)

- เจ เอ เกห์มา (J.A. Gehma) ตีพิมพ์หนังสือ การประยุกต์วิธีรมยาของจีนในการรักษาอาการปวดข้อจากโรคเก๊าท์ (Application of Chinese Moxibustion to Treat Migratory Arthralgia) (ค.ศ. 1683) โดยพิมพ์ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนี


6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

มิเชล บอย์ม (Michel Boym) 

6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) thai-herbs.thdata.co | 6.-ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่-ช่วงยุคราชวงศ์หมิง-และราชวงศ์ชิง-ก่อนสงครามฝิ่น-(ค.ศ.-1368-ถึง-1840) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

พรรณไม้จีน (Chinese Flora) 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล