Select your language TH EN
การแพทย์จีน ประวัติการแพทย์จีน  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ




5. ยุคราชวงศ์ซ่ง ถึงราชวงศ์เหวียน (ค.ศ. 960-1368)

ในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) มีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือ การค้นพบดินปืน เข็มทิศ และการพิมพ์ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) (ค.ศ. 1818-1883) ได้กล่าวถึงการค้นพบทั้งสามสิ่งนี้ในหนังสือ การประยุกต์ทางการแพทย์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ (The Application of Medicine, Nature and Science) ว่า “ดินปืนได้ระเบิดชนชั้นนักรบออกเป็นเสี่ยง ๆ และเข็มทิศได้ถูกใช้เปิดตลาดโลกและสร้างอาณานิคม ขณะที่การพิมพ์ได้กลายเป็นเครื่องมือของการศึกษาใหม่ และเครื่องมือของการฟื้นฟูวิทยาศาสตร์ และเป็นคานงัดที่แข็งแรงที่สุดซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างและพัฒนาจิตวิญญาณ” ในยุคดังกล่าวจีนเริ่มมีการพิมพ์ธนบัตรใช้ และมีการพัฒนาทั้งทางด้านดาราศาสตร์และกลศาสตร์อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามในยุคราชวงศ์ซ่ง มีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรง ระหว่างแนวคิดดั้งเดิมตามลัทธิขงจื่อ กับความรู้ใหม่ ๆ (New learning) เหล่านี้ ในยุคนี้ มีพัฒนาการทางการแพทย์หลายประการ ได้แก่

1) การชำระและพิมพ์เผยแพร่ตำราแพทย์ มีการดำเนินการตามลำดับ ดังนี้

- ค.ศ. 971 พระจักรพรรดิมีพระราชโองการให้มีโครงการพบปะสังสรรค์ของนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ (The Imperial Edict of Visiting Scholars with Outstanding Medical Skills

5- thai-herbs.thdata.co | 5- สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การพบปะสังสรรค์ของนักปราชญ์-ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์


- ค.ศ. 981 มีพระราชโองการให้เสาะหาตำราแพทย์ โดยการซื้อหามาเป็นจำนวนมาก

- ค.ศ. 1026 มีการสะสมตำราแพทย์และตำรับยาเพิ่มเติมอีกมาก

- ค.ศ. 1057 จัดตั้ง เสี้ยวเจิ้งอีซูจฺหวี (The Proofing Bureau for Medical Books หรือ สำนักงานชำระตำราแพทย์) ในสถาบันแพทย์ฮั่นหลิน (The Hanlin Medical Officers Academy) ใช้เวลา 10 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1068-1077 ชำระตำราแพทย์โบราณ เช่น คัมภีร์ซู่เวิ่น ถูกแก้ไขกว่า 6,000 คำ และมีคำอธิบายเพิ่มเติมกว่า 2,000 แห่ง ตำราต่าง ๆ ได้รับการชำระและเผยแพร่ ทำให้ได้รับความเชื่อถือเป็นตำราอ้างอิงต่อมาเป็นเวลากว่า 1,000 ป

5- thai-herbs.thdata.co | 5- สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

สถาบันแพทย์ฮั่นหลิน


2) การก่อตั้งสำนักเภสัชวิทยาแห่งชาติ มีการพัฒนาทั้งการผลิตและจำหน่ายยา เปลี่ยนชื่อโรงงานผลิตยา (Drug Processing Workshop) เป็น ตำรับเวชปราณีการุณโอสถสถาน (Medical Grace Formulae Benevolent Dispensary) และเปลี่ยนชื่อสถานจำหน่ายยา เป็น เวชการุณโอสถสถาน (Medical Benevolent Dispensary)

3) การพัฒนาระบบการศึกษาแพทย์ สถาบันแพทย์หลวงได้พัฒนาระบบการศึกษาแพทย์ โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 3 ระดับ มีการสอบเลื่อนชั้นทุก 2 ปี และแบ่งโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์เป็น 3 แผนก ได้แก่

- แผนกอายุรศาสตร์ สูติศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์

- แผนกฝังเข็มและรมยา

- แผนกโรคภายนอก ซึ่งรวมถึงศัลยศาสตร์ การรักษาการบาดเจ็บและการจัดกระดูก

4) การพัฒนาสูตรตำรับยาและเภสัชวิทยา มีการพัฒนาตำราทางเภสัชวิทยา และสูตรตำรับยาจำนวนมาก ได้แก่

- ตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ชำระใหม่ปีไคเป่า (Kai Bao Newly Revised Compendium of Materia Medica) ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 973 โดยหลิวหานผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชวิทยา หม่าจื้อแพทย์หลวง และไจ๋ซฺวี่ กับจางหฺวา ซึ่งเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน (Imperial Academy)

- ตำราจิงสื่อเจิ้งเล่ย์เป้ย์จี๋เปิ๋นเฉ่า หรือ Classic and Historical Classified Materia Medica for Emergency หรือ ตำรับยาแบบดั้งเดิมและการแบ่งประเภทตามประวัติเพื่อโรคฉุกเฉิน (ค.ศ. 1056-1093) แต่งโดย ถังเซิ่นเวย์เป็นหนังสือ 32 เล่ม มีตัวยา 1,558 ชนิด โดยเป็นยาใหม่ 476 ชนิด

- ตำราไท่ผิงเซิ่งหุ้ยฟาง หรือ Peaceful Holy Benevolent Formulae หรือ ตำรับยาการุณสวรรค์สันติ (ค.ศ. 987-992) รวบรวมโดย หวางหฺวานอี่หนง (Wang Huanyinong) ตามพระราชโองการของจักรพรรดิราชวงศ์ซ่ง เป็นหนังสือ 100 เล่ม 1,670 เรื่อง และ 16,834 ตำรับ

- ตำราไท่ผิงหุ้ยหมินเหอจี้จฺหวีฟาง หรือ Formulae of the Peaceful Benevolent Dispensary หรือ ตำรับยาของการุณสันติโอสถสถาน (ค.ศ. 1102-1106) ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ตำรับสำหรับโอสถสถาน (Formulae of the Dispensary) เป็นหนังสือ 5 เล่ม 21 เรื่อง และ 297 ตำรับยา  ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็น 10 เล่ม 14 เรื่อง 788 ตำรับยา  ทั้งนี้ตำรับยาในตำรานี้จะประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด

- ตำราเซิ่งจี่จ่งลู่ หรือ The Complete Record of Holy Benevolence หรือ บันทึกฉบับสมบูรณ์แห่งสวรรค์การุณย์ (ค.ศ. 1111–1117) รวบรวมโดยคณะแพทย์แห่งราชวงศ์ซ่ง เป็นหนังสือ 200 เล่ม ประมาณ 20,000 ตำรับ และ 66 กลุ่ม

5) การพัฒนาการแพทย์เฉพาะทางแขนงต่าง ๆ ได้แก่

5.1 สาเหตุของโรค มีตำราเรื่องสาเหตุของโรค คือ คำอธิบายเรื่องโรค กลุ่มอาการและตำรายาเกี่ยวกับการผนวกรวมสาเหตุโรคสามกลุ่ม หรือ Discussion of Illness, Syndromes and Formulae Related to the Unification of the Three Groups of Pathogenic Factors เขียนโดย เฉินเอี๋ยน

5.2 การฝังเข็มและรมยา ในปี ค.ศ. 1027 มีการหล่อรูปบรอนซ์ขนาดเท่าคนจริงจำนวน 2 รูป แสดงจุดฝังเข็ม 657 จุด และเปิดดูอวัยวะภายในได้ รูปหนึ่งวางไว้ให้นักศึกษาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนในโรงเรียนแพทย์ อีกรูปหนึ่งเก็บไว้ที่พระตำหนักเหรินจี่ ในวัดต้าเซียงกั๋ว นอกจากนี้ยังมีการเขียนตำราฝังเข็มและรมยาเผยแพร่อีกหลายชุด

5.3 วิชานรีเวชวิทยา มีตำราที่สำคัญ ได้แก่

- ตำรา สือฉ่านลุ่น หรือ Treatise on Ten Obstetric Problems หรือ ตำราเรื่องสิบปัญหาทางสูติศาสตร์ (ค.ศ. 1078) เขียนโดย หยางจื่อเจี้ยน

- ตำรา ฟู่เหรินต้าฉวนเหลียงฟาง หรือ Complete Effective Formulae for Woman หรือ ตำรับที่ได้ผลสมบูรณ์สำหรับสตรี (ค.ศ. 1237) เขียนโดย เฉินจื้อหมิง อธิบายความผิดปกติ 260 เรื่อง 24 กลุ่ม โดย 19 กลุ่มเป็นเรื่องทางนรีเวช ที่เหลืออีก 5 กลุ่มเป็นเรื่องทางสูติศาสตร์

5.4 วิชากุมารเวชศาสตร์ มีตำราชื่อ เสี่ยวเอ๋อร์เหย้าเจิ้งจื๋อจฺเหวีย หรือ Key to Syndrome Identification and Treatment of Diseases in Infants หรือ กุญแจการวินิจฉัยกลุ่มอาการและการรักษาโรคในทารก เขียนโดย เฉียนอี่ (ค.ศ. 1032-1113) เป็นหนังสือ 3 เล่ม ดังนี้

- เล่มแรก เป็นเรื่องการรักษาโรคตามการวินิจฉัยกลุ่มอาการ และภาวะชีพจร

- เล่มสอง เป็นกรณีศึกษาผู้ป่วย 23 ราย ที่ผู้เขียนเคยรักษา

- เล่มสาม เป็นรายการยาที่ใช้บ่อย ความเข้ากันของยา และการบริหารยา

- เฉียนอี่เน้นการวินิจฉัยโรคด้วยการดู (Inspection) โดยการสังเกตลักษณะผิวหนัง สภาพของใบหน้า และดวงตา นอกจากนี้ มีการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคโดยการสังเกตหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังบนนิ้วชี้ของเด็ก โดย หลิวฝ่าง เขียนในตำรา เสี่ยวเอ๋อร์ปิ้งเหวียนฟางลุ่น หรือ A Newly Compiled Book on Pediatrics หรือ ตำรารวมเล่มใหม่ในกุมารเวชศาสตร์ อธิบายลักษณะ 3 ประการของหลอดเลือดดำหลังนิ้วชี้เด็ก ต่อมาได้มีการพัฒนาพบลักษณะต่าง ๆ เพิ่มเป็น 10 ประการ ที่บ่งบอกโรคของอวัยวะภายในต่าง ๆ

5.5 ศัลยศาสตร์และวิทยาการบาดเจ็บ หรือ ซางเคอเสฺวีย มีตำราชื่อ ไว่เคอจิงเอี้ยว หรือ Essentials of External Diseases หรือ ตำราเรื่องสำคัญเกี่ยวกับโรคภายนอก (ค.ศ. 1263)  เขียนโดย เฉินจื้อหมิง และมีการบันทึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งเป็นครั้งแรกในตำรา เว่ย์จี้เป่า หรือ Treasured Book for Health Care หรือ ตำราขุมทรัพย์เพื่อการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ มีการรักษากระดูกสันหลังหักโดยการแขวนถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เดวิส (Davis) จะกล่าวถึงวิธีการจัดให้เข้าที่โดยการแขวน (Reduction by Suspension) เป็นเวลาถึง 600 ปี และมีการใช้เฝือกไม้ 4 ชิ้น เพื่อรักษากระดูกหัก

5.6 การพัฒนาด้านนิติเวชศาสตร์ มีตำรานิติเวชศาสตร์ชื่อ สี่วานจี๋ลู่ หรือ Records of Washing Away the Injustice หรือ บันทึกการขจัดความอยุติธรรม เขียนโดย ซ่งฉือ (ค.ศ. 1186-1249) เป็นหนังสือ 4 เล่ม ดังนี้

- เล่มแรก เป็นเรื่องพื้นฐานนิติเวช การผ่าศพพิสูจน์ และการวิเคราะห์เหตุการณ์ของการบาดเจ็บ

- เล่มสอง แยกแยะสาเหตุของการมีบาดแผลและการตาย ว่าบาดแผลเกิดก่อนหรือหลังตาย เป็นการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม

- เล่มสาม  ว่าด้วยยาพิษ ทั้งจากสัตว์หรือแร่ธาตุ ที่ใช้ฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม

- เล่มสี่  ว่าด้วยวิธีแก้พิษ และภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ






ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล