Select your language TH EN
การแพทย์จีน ประวัติการแพทย์จีน  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ




7. ยุคการแพทย์สมัยใหม่ จากสงครามฝิ่น การสถาปนาจีนใหม่ จนถึงปัจจุบัน (Modern Age) (ค.ศ. 1840–ปัจจุบัน)

1) การยอมรับการแพทย์ตะวันตก

ประวัติศาสตร์จีนในช่วงยุคนี้ การแพทย์ตะวันตกมีผลกระทบอย่างมากต่อการแพทย์จีน เริ่มต้นจากการเกิดสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับชาติตะวันตก 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกทำสงครามกับประเทศอังกฤษ (ค.ศ. 1840-1842) และครั้งที่สองทำสงครามกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส (ค.ศ. 1856-1860) 

ก่อนสงครามฝิ่น การแพทย์ตะวันตกในประเทศจีนถูกปิดกั้น มีการตั้งสถานพยาบาลการแพทย์ตะวันตกบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น โธมัส อาร์ คอลเลดจ์ (Thomas R.Colledge) แพทย์ของบริษัท บริติชอิสต์อินเดีย เริ่มตั้งโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งแรกที่เมืองมาเก๊า (Macau) และใน ค.ศ. 1834 ปีเตอร์ ปาร์เกอร์ (Peter Parker) (ค.ศ. 1804-1888) แพทย์บาทหลวงชาวอเมริกันถูกส่งไป ที่เมืองกวางเจาและจัดตั้งโรงพยาบาลตา แต่หลังสงครามฝิ่น จีนตกอยู่ในฐานะกึ่งเมืองขึ้น มีการตั้งโรงพยาบาลมิชชันนารีเป็นจำนวนมาก ระหว่าง ค.ศ. 1828-1949  มีโรงพยาบาลมิชชันนารีมากถึง 340 แห่ง


7.-ยุคการแพทย์สมัยใหม่-จากสงครามฝิ่น-การสถาปนาจีนใหม่-จนถึงปัจจุบัน-(Modern-Age)-(ค.ศ.-1840-ถึง-ปัจจุบัน) thai-herbs.thdata.co | 7.-ยุคการแพทย์สมัยใหม่-จากสงครามฝิ่น-การสถาปนาจีนใหม่-จนถึงปัจจุบัน-(Modern-Age)-(ค.ศ.-1840-ถึง-ปัจจุบัน) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

โธมัส อาร์ คอลเลดจ์ (Thomas R.Colledge) แพทย์ของบริษัท บริติชอิสต์อินเดีย


เคทเบอรี โจนส์ (Katebury Jones) เขียนถึงบทบาทของโรงพยาบาลเหล่านี้ไว้ในหนังสือ บนคมมีดผ่าตัด (On the Edge of the Operating Knife) (ค.ศ. 1935) ตีพิมพ์ที่นครเซี่ยงไฮ้ ว่า “สำหรับนายแพทย์ปีเตอร์ ปาร์เกอร์แล้ว มีดผ่าตัดของเขาทำหน้าที่ฟันบานประตูจีนให้เปิดออก ขณะที่กระสุนปืนของตะวันตกพังทลายไม่ได้”

สมาคมแพทย์นักสอนศาสนาอเมริกัน (American Medical Preaching Association) ตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกแห่งแรกขึ้นที่เมืองกวางเจา ใน ค.ศ. 1866 ชาวจีนเองก็ได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกขึ้นที่เทียนสิน เมื่อ ค.ศ. 1881 และตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกขึ้นในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในค.ศ. 1903 ซึ่งต่อมาได้แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแพทย์ปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ. 1906 

หลัง “สัญญาสันติภาพ” (ค.ศ. 1901) ระหว่างจีนกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส  มีการตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนแพทย์เสียเหออีเสวียถาง Union Medical School หรือ โรงเรียนแพทย์ยูเนียน ค.ศ. 1903) ที่ปักกิ่ง (โรงเรียนแพทย์ฉีหลู (Qilu ค.ศ. 1904) ที่จี้หนานโรงเรียนต้าถง(Datong)(ค.ศ. 1908) ที่ฮั่นโข่ว (Hankou)  โรงเรียนแพทย์ถงจี้(ค.ศ. 1908) ที่นครเซี่ยงไฮ้  โรงเรียนแพทย์ยูเนียน (ค.ศ. 1911) ที่เมืองฝู่โจว และโรงเรียนแพทย์เซียงหยา (Xiangya)(ค.ศ. 1914) ที่เมืองฉางซา (Changsha)  รวมแล้วมีโรงเรียนแพทย์ตะวันตกของคณะมิชชันนารีกว่า 20 แห่ง หลังการปฏิวัติประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911 มีโรงเรียนแพทย์ทั้งของรัฐและเอกชนตั้งขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ  นอกจากนี้ นักศึกษาจำนวนมากเดินทางไปศึกษาการแพทย์ในต่างประเทศ ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป และมีการแปลตำราแพทย์ตะวันตกจำนวนมากเป็นภาษาจีน

ในยุคดังกล่าว มีการต่อสู้กันระหว่างการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก และผลที่สุดการแพทย์จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แพทย์จีนหลายคนมีความพยายามผสมผสานการแพทย์ทั้งสองแผนเข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากทฤษฎีพื้นฐานแตกต่างกัน จึงผสมผสานกันไม่ได้

2) ความพยายามล้มเลิกการแพทย์จีน

หลังจากการแพทย์ตะวันตกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋ง มีความคิดและความพยายามล้มเลิกการแพทย์จีน ดังนี้

ค.ศ. 1914 หวางต้าเซีย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ยกเลิกการแพทย์จีน และให้ใช้การแพทย์ตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ค.ศ. 1925 สมาคมสหศึกษาแห่งประเทศจีน เสนอต่อรัฐบาลให้นำการแพทย์จีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ตะวันตก แต่ถูกปฎิเสธ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929  ในที่ประชุม “คณะกรรมการกลางสาธารณสุข” นายแพทย์เวี่ย วินซิ่ว ซึ่งศึกษาวิชาแพทย์จากญี่ปุ่นและกลับมาจีน  ใน ค.ศ. 1914 เสนอให้ยกเลิกการรักษาโรค โดยแพทย์จีน ด้วยเหตุผล คือ

- ทฤษฎีแพทย์จีน ล้วนแล้วแต่เป็นทฤษฎีเพ้อฝัน

- การวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการแมะหรือจับชีพจรไม่เป็นจริง เป็นการหลอกลวงประชาชน

- การแพทย์จีนไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้

- พยาธิวิทยาของการแพทย์จีนไม่เป็นวิทยาศาสตร์

- นายแพทย์เวี่ยวินซิ่ว เสนอขั้นตอนการยกเลิกการแพทย์จีนไว้ ดังนี้

- ขึ้นทะเบียนแพทย์จีนที่มีอยู่ทุกคน ภายในปี ค.ศ. 1930

- จัดอบรมแก่แพทย์จีน มีกำหนด 5 ปี จนถึง ค.ศ. 1930 แล้วมอบประกาศนียบัตรให้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับใบประกาศนียบัตร ให้หมดสิทธิ์ในการประกอบโรคศิลปะ

- แพทย์จีนที่มีอายุเกิน 50 ปี และได้ใบประกอบโรคศิลปะในประเทศมาแล้ว เกิน 20 ปี ให้ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการอบรม แต่จำกัดมิให้รักษาโรคติดต่อ ไม่มีสิทธิ์เขียนใบมรณบัตร และใบประกอบโรคศิลปะดังกล่าวให้มีอายุต่อไปอีก 15 ปี นับแต่ ค.ศ. 1929 ห้ามแพทย์จีนโฆษณาประชาสัมพันธ์ และห้ามแนะนำการแพทย์จีนทางหนังสือพิมพ์

- ห้ามนำเสนอข่าวในวารสาร ห้ามการโฆษณาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

- ห้ามตั้งสถาบันการแพทย์จีน

หลังจากมติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของที่ประชุม ได้เกิดการต่อต้านจากวงการแพทย์และเภสัชกรรมแผนจีนอย่างกว้างขวาง กลุ่มสมาคมต่าง ๆ 132 กลุ่ม จาก 15 มณฑล ได้ส่งตัวแทนไปชุมนุมกันที่นครเซี่ยงไฮ้ กลุ่มผู้ต่อต้านได้ชูคำขวัญ “เรียกร้องการแพทย์จีน เพื่อป้องกันการรุกรานทางวัฒนธรรม เรียกร้องแพทย์และเภสัชกรจีน เพื่อป้องกันการรุกรานทางเศรษฐกิจ”  มีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกมติดังกล่าว แพทย์และเภสัชกรแผนจีนในนครเซี่ยงไฮ้นัดกันหยุดงานครึ่งวันเป็นการประท้วง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมการค้าแห่งประเทศจีน สมาคมสินค้าแห่งประเทศจีน สำนักพิมพ์ข่าวการแพทย์ และชาวจีนโพ้นทะเลในแถบอุษาคเนย์ได้ส่งโทรเลขสนับสนุนการคัดค้านครั้งนี้ด้วย การรณรงค์คัดค้านดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1929  แพทย์จีนจึงถือวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันแพทย์จีน 

ผลของการคัดค้านอย่างกว้างขวางทำให้มติดังกล่าวไม่ได้นำไปปฏิบัติ แต่ก็มีการดำเนินการบางประการ ได้แก่

- กระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่ง ให้เรียกโรงเรียนการแพทย์จีนเป็นเพียงสถานให้การศึกษา

- กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลแพทย์จีนเป็นสถานพยาบาล และห้ามแพทย์จีนทำงานร่วมกับฝ่ายการแพทย์แผนปัจจุบัน

- ค.ศ. 1932 รัฐบาลมีคำสั่งห้ามสอนการแพทย์จีนในระบบโรงเรียน ผลที่ตามมาทำให้โรงเรียนแพทย์จีนลดจำนวนลงมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในมณฑลกวางตุ้ง จากเดิมมีโรงเรียนแพทย์จีนอยู่มากกว่า 20 แห่ง คงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวใน ค.ศ. 1947 แพทย์จีนซึ่งประมาณว่ามีอยู่ราว 5 แสนคน แต่เพราะการสอบที่เข้มงวด ทำให้ส่วนน้อยเท่านั้นที่สอบผ่านและได้รับใบประกอบโรคศิลปะ เช่น ในนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่าง ค.ศ. 1927-1935 มีผู้สอบได้เพียง 6,000 คน เท่านั้น การแพทย์จีนในประเทศจีนจึงเสื่อมสลายลงตามลำดับ

3) การฟื้นฟูการแพทย์จีนหลังการสถาปนาจีนใหม่

ระหว่างสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 28 ปี เนื่องจากเขตที่ฝ่ายคอมมูนิสต์ครอบครองอยู่ ถูกปิดล้อมจากทุกด้าน การแพทย์ในเขตนี้จึงต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากการแพทย์จีน และได้มีการผสมผสานการแพทย์ตะวันตกมาโดยต่อเนื่อง

หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลจีนใหม่มีนโยบาย “สังคายนาการแพทย์จีน” ทั่วประเทศ ต่อมา ค.ศ. 1956 ได้จัดตั้งสถาบันสอนการแพทย์จีนใน 4 เมืองใหญ่ คือ นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองนานกิง และเมืองเฉิงตู และขยายเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ


7.-ยุคการแพทย์สมัยใหม่-จากสงครามฝิ่น-การสถาปนาจีนใหม่-จนถึงปัจจุบัน-(Modern-Age)-(ค.ศ.-1840-ถึง-ปัจจุบัน) thai-herbs.thdata.co | 7.-ยุคการแพทย์สมัยใหม่-จากสงครามฝิ่น-การสถาปนาจีนใหม่-จนถึงปัจจุบัน-(Modern-Age)-(ค.ศ.-1840-ถึง-ปัจจุบัน) สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949


ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลมีนโยบายกระจายบริการสาธารณสุขไปทั่วประเทศ ด้วยการสร้าง “หมอเท้าเปล่า” ขึ้น มีการเสนอคำขวัญ “หญ้าหนึ่งกำ เข็มหนึ่งเล่ม สามารถรักษาโรคได้” การผลิตแพทย์ด้วยนโยบายซ้ายจัด ทำให้เกิดแนวคิด “การรวมแพทย์ทั้งสองแผนเข้าด้วยกัน” เพื่อผลิตแพทย์แผนใหม่ให้รู้ทั้งการแพทย์ตะวันตกและการแพทย์จีน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทำให้ได้แพทย์ที่ไม่มีความรู้ลุ่มลึกพอทั้งสองแผน 

เมื่อเข้าสู่ยุค “สี่ทันสมัย” (ค.ศ. 1980) มีนโยบายทบทวนการพัฒนาการแพทย์ในประเทศจีน ตั้งเป้าหมายใหม่ให้มี  “การคงอยู่ร่วมกันของการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก และการผสมผสานระหว่างการแพทย์จีนกับการแพทย์ตะวันตก โดยมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาพร้อม ๆ กัน” ปัจจุบันการแพทย์จีนมีการพัฒนาที่ครบวงจร ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน การให้บริการในโรงพยาบาล และการพัฒนายา โดยการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตกมีการยอมรับซึ่งกันและกัน และได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐบาลและประชาชน



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล