Select your language TH EN
สมุนไพรจีน-เต้าตี้เย่าไฉ การบรรจุหีบห่อสมุนไพรจีน  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



การบรรจุหีบห่อสมุนไพรจีน

การบรรจุหีบห่อสมุนไพรจีน คือ รูปลักษณ์ภายนอกซึ่งบ่งบอกถึงมูลค่าและการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรจีน การบรรจุหีบห่อที่สวยงามและมีคุณภาพดี จะมีผลโดยตรงต่อมูลค่าของสินค้า และมักเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เช่น เหรินเซิน (โสมคน) ของจีนมีคุณภาพดีกว่าของเกาหลี แต่การบรรจุหีบห่อไม่สวยงามเท่าของเกาหลี ดังนั้นในตลาดต่างประเทศเหรินเซินของจีนจึงมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าน้อย อีกทั้งมูลค่าและปริมาณการจําหน่ายก็ไม่มากเท่าของเกาหลี จึงอาจกล่าวได้ว่าการบรรจุหีบห่อที่มีคุณภาพดีจะมีผลโดยตรงต่อความสําเร็จของสมุนไพรจีนในเชิงพาณิชย์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวในการผลิตเต้าเผ่าไฉและอินเพียนจึงได้รวมเอาเรื่องการบรรจุหีบห่อไว้เป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยปรับปรุงรูปแบบของการบรรจุหีบห่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

การออกแบบการบรรจุหีบห่อสมุนไพรจีน ควรคํานึงถึงปริมาณของเย่าไฉ อิ่นเพี่ยน และวัสดุที่ใช้ รวมทั้งรูปแบบการบรรจุที่แตกต่างกัน นําข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาในภาพรวมแล้วออกแบบตามความต้องการซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจําหน่ายสินค้า การขนส่ง และการเก็บรักษา ตลอดจนเป็นการประกันคุณภาพและปริมาณที่สม่ำเสมอของเผ่าไฉและอิ่นเพียน ทําให้ผู้บริโภคใช้สะดวกสามารถคัดเลือกและพกพาง่าย โดยทั่วไปการบรรจุหีบห่อชั้นในของอินเพียนส่วนใหญ่ขนาดบรรจุจะเท่ากับการรับประทานต่อครั้ง หรือต่อวัน หรือต่อ 3 วัน (ภายในห่อใหญ่บรรจุ 3 ห่อย่อย) เพื่อสะดวกต่อผู้บริโภคในการใช้ หรือสะดวกต่อแพทย์จีนในการเลือกใช้ตัวยาเพื่อการเข้าตํารับยา

1. ประโยชน์ของการบรรจุหีบห่อ 

การบรรจุหีบห่อสมุนไพรจีนมีประโยชน์ค่อนข้างมาก แต่ที่สําคัญมีดังนี้

(1) เป็นการประกันคุณภาพของสมุนไพร สมุนไพรจีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี วัตถุประสงค์เพื่อการบําบัดรักษาโรค การป้องกันโรค และการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง หากไม่บรรจุหีบห่อ ะทำให้สมุนไพรสัมผัสกับอากาศ แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ มีแมลงและเชื้อรา ซึ่งทําให้คุณภาพของสมุนไพรเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การบรรจุหีบห่อจึงเป็นสิ่งจําเป็น หลังบรรจุหีบห่อแล้วควรปิดผนึกให้สนิท เป็นการประกันคุณภาพของสมุนไพร เช่น ตั่งเซิน หากไม่บรรจุหีบห่อในฤดูร้อนหากเก็บสมุนไพรไว้ภายใน 1 เดือน ก็จะขึ้นราและแมลงจะกัดกินจนกลวง ไม่สามารถนํามาใช้เป็นยาได้ ดังนั้น จึงควรใช้ถุงพลาสติกแบบหนาเป็นวัสดุในการบรรจุหีบห่อ และต้องเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะทําให้สามารถเก็บได้นาน 3-5 ปี โดยรักษาคุณภาพของสมุนไพรไว้ได้

(2) ป้องกันความเสียหายและรักษาปริมาณของสมุนไพรให้ตรงตามขนาด บรรจุ ขนาดบรรจุของสมุนไพรจะต้องตอบสนองความต้องการของตลาดและต้องมีปริมาณคงที่และสม่ำเสมอ จึงจําเป็นต้องมีการบรรจุหีบห่อเพื่อลดความเสียหาย และสามารถดําเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นและเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

(3) รูปลักษณ์ที่สวยงาม จูงใจผู้บริโภค และส่งเสริมการจําหน่าย สมุนไพรจีนมีหลากหลายชนิด รูปร่างลักษณะแตกต่างกัน ขนาดไม่เท่ากัน หากไม่บรรจุหีบห่อจะไม่สามารถเข้าเกณฑ์มาตรฐานการบรรจุหีบห่อที่กําหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องบรรจุหีบห่อให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม และต้องมีคําอธิบายเท่าที่จําเป็น เช่น ชื่อของตัวยา การออกฤทธิ์ สรรพคุณ วิธีใช้ ขนาดที่ใช้ และข้อควรระวังในการใช้ การบรรจุหีบห่อที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยจะจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจ อีกทั้งผู้บริโภคจะสามารถแยกแยะหรือคัดเลือกผลิตภัณฑ์ได้ และสามารถส่งเสริมการขาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินกิจการ

(4) ขนส่งสะดวกและเอื้อประโยชน์ต่อการเก็บรักษา สมุนไพรที่บรรจุหีบห่อแล้ว หากเป็นชนิดเดียวกันจะกําหนดลักษณะภายนอก ขนาดใหญ่-เล็ก และน้ำหนักที่แน่นอนไว้ ซึ่งสะดวกต่อการขนส่ง การขนย้ายและการตรวจนับสินค้า และสะดวกในการบันทึกน้ำหนักในขั้นตอนของการเก็บรักษา การวางซ้อน การขนย้ายจากคลังสินค้า การตรวจสอบสินค้าคงเหลือ และสามารถบริหารจัดการปริมาณสินค้าในขั้นตอนของการจําหน่าย

2. ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ 

ตัวยาแต่ละชนิดมีคุณลักษณะและขนาดแตกต่างกัน ดังนั้นการบรรจุหีบห่อจําเป็นต้องเลือกภาชนะบรรจุให้เหมาะสมกับตัวยาแต่ละชนิด ดังนี้

(1) ถุงผ้าหรือกระสอบ เป็นภาชนะที่ใช้สืบต่อกันมาแต่โบราณและนับเป็นภาชนะที่นิยมใช้ในการบรรจุหีบห่อมากที่สุด เนื่องจากมีเนื้อละเอียดและสะดวกแก่การหยิบถือ ทนต่อการกดทับและเสียดสี ป้องกันความชื้นและแสง ดังนั้น นอกจากตัวยาที่มีราคาแพงแล้ว ตัวยาอื่นๆ สามารถใช้ถุงผ้าและกระสอบบรรจุได้ทั้งสิ้น ถุงผ้านิยมใช้บรรจุตัวยาที่มีลักษณะเป็นผง เช่น ผู่หวง (กกช้าง) เจินจูหมู่เฟิ่น (ผงไข่มุก) หรือ ตัวยาประเภทธาตุวัตถุชนิดผงต่างๆ วัสดุกระสอบที่ทอด้วยปอหรือป่านชนิดละเอียด เหมาะสําหรับตัวยาที่มีขนาดเล็ก เช่น ตัวยาประเภทผลหรือเมล็ด เช่น ซูจื่อ (ผลงาขี้ม้อน) ทู่ซือจื่อ (เมล็ดฝอยทอง) กระสอบชนิดหยาบมักใช้บรรจุตัวยาทั่วไปหรืออิ่นเพี่ยน (ตัวยาพร้อมใช้) เช่น ซังจู๋ (โกฐเขมา) โฮ่วผอ เป็นต้น

(2) ถุงพลาสติก เป็นภาชนะที่เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถุงพลาสติกเป็นภาชนะที่แข็งแรงและมีความคงทน ทนต่อการกดทับและเสียดสี ป้องกันการกัดกร่อน สามารถปิดผนึกแน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาได้รับความชื้นหรือระเหย และป้องกันแสง ถือว่าเป็นภาชนะที่เหมาะสมในการบรรจุหีบห่อภายนอก นอกจากจะเหมาะสําหรับการบรรจุเย่าไฉขนาดต่างๆ และอินเพียนแล้ว ยังเหมาะที่จะใช้บรรจุตัวยาที่มีฤทธิ์กัดกร่อนได้ เช่น หมางเซียว (ดีเกลือ) ต้าชิงเอี๋ยน และตัวยาประเภทธาตุวัตถุอื่นๆ หรือใช้บรรจุตัวยาที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ง่าย เช่น เอี๋ยนฟู่จื่อ (โหราเดือยไก่ที่เฝ้าจื้อด้วยน้ำเกลือ) เซิงตี้ (โกฐขี้แมว) เป็นต้น

(3) เข่ง ตะกร้า หรือสาแหรก เข่งและตะกร้าเป็นภาชนะที่ทํามาจากไม้ไผ่ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทนทานต่อการขนส่ง ระบายอากาศได้ดี เหมาะสําหรับบรรจุตัวยาที่มีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ หรือเป็นท่อนๆ เช่น หวงฉี กันเน่า (ชะเอมเทศ) เป็นต้น สาแหรกเป็นภาชนะที่ทํามาจากลําต้นของหญ้าแขม (เหว่ย์จิง) มีคุณสมบัติ ค่อนข้างอ่อนนุ่ม มีความยืดหยุ่นน้อย สามารถทําเป็นรูปร่างต่างๆ ตามต้องการได้ง่าย เหมาะสําหรับบรรจุตัวยาประเภทดอก ใบ ทั้งต้น หรือตัวยาที่มีลักษณะโป่งและนิ่ม เช่น จินอิ๋นฮวา (ดอกสายน้ำผึ้ง) ซังเยี่ย (ใบหม่อน) เป็นต้น วัสดุดังกล่าวนอกจากจะห่อให้เป็นรูปร่างใหญ่-เล็กตามต้องการและเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถจัดวางเรียงในคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย

(4) ลังไม้หรือลังกระดาษ ลังไม้เป็นภาชนะที่มีความแข็งแรงและทนทาน สามารถปิดผนึกแน่น ทนต่อการกดทับและเสียดสี โดยภายในลังไม้จะบุด้วยกระดาษ หรือห่อตัวยาด้วยถุงพลาสติก เพื่อป้องกันความชื้นและแสง มักใช้กับตัวยาที่มีราคาแพง เช่น เทียนหมา ลู่หรง (เขากวาง) เหรินเซิน (โสมคน) อาเจียว (กาวหนังลา) เป็นต้น นอกจากนี้ ลังไม้ยังใช้เป็นภาชนะภายนอกในการบรรจุผลิตภัณฑ์ยาที่มีปริมาณมาก ลังกระดาษจะมีคุณภาพด้อยกว่าลังไม้ แต่มีราคาถูกกว่าและมีน้ำหนักเบา เหมาะสําหรับบรรจุตัวยาที่มีราคาแพงและใช้เป็นภาชนะภายนอกในการบรรจุยาสําเร็จรูป

(5) ถุงพลาสติกแบบหนา เป็นภาชนะที่เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีจุดเด่น คือ มีความทนทาน น้ำหนักเบา ป้องกันความชื้นได้ดี มักใช้บรรจุตัวยาที่มีขนาดเล็กหรือละเอียดและยาสําเร็จรูป สามารถใช้เป็นภาชนะในการบรรจุหีบห่อทั้งภายใน และระหว่างกลาง โดยเฉพาะอินเพียน (ตัวยาพร้อมใช้) ที่กําหนดน้ำหนักที่แน่นอน รวมทั้งเป็นภาชนะที่เหมาะสมในการบรรจุตัวยาประเภทผลและเมล็ดที่มีน้ำหนักแน่นอนทั้ง ที่มีปริมาณมากและปริมาณน้อย เช่น ต้าเจ่า (พุทราจีน) โก่วฉี เป็นต้น

(6) ภาชนะประเภทเหล็ก (ถัง ลัง หรือกล่อง) และประเภทกระเบื้องเคลือบ (โถ กระปุก หรือกระป๋อง) แม้ว่าจะมีน้ำหนักมากแต่ทนทานต่อการขนส่งและเรียงซ้อน สามารถปิดผนึกได้ดี เหมาะสําหรับตัวยาที่เป็นของเหลวหรือสารสกัด เช่น น้ำผึ้ง ตัวยาที่มี กลิ่นหอม หรือตัวยาที่ระเหยง่าย เช่น เซ่อเซียง (ชะมด) ปิงเพี่ยน (การบูร) ป๋อเหอเหน่า (พิมเสน) เออเว่ย์ (น้ำที่กลั่นได้จากมหาหิงค์) เป็นต้น



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง